เที่ยวคันไซด้วย JR-West Kansai Wide Area Pass โอซาก้า โกเบ ฮิเมจิ เกียวโต

เที่ยวคันไซด้วย JR-West Kansai Wide Area Pass โอซาก้า โกเบ ฮิเมจิ เกียวโต

การใช้ตั๋ว Pass สำหรับขึ้นรถไฟในญี่ปุ่นในฐานะนักท่องเที่ยวนั้น ถือเป็นสิทธิพิเศษที่แม้แต่คนญี่ปุ่นเองยังอิจฉา แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ มี Pass ในเส้นทางใกล้เคียงให้เลือกมากมายจนไม่รู้ว่าควรเลือกอันไหนดี ตัวผมเองตอนวางแผนเที่ยวคันไซก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ช่วงเริ่มทำแผนเลือก JR-West 4 วัน พอจองที่พักได้แถว Shinsaibashi ก็เปลี่ยนเป็น Kansai Thru Pass แบบ 3 วัน 2 ใบ แต่พอดูเวลาเดินทางไป Himeji ด้วย Kansai Thru Pass ที่ต้องใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ไปกลับ 4 ชั่วโมง สุดท้ายเลยตัดสินใจมาใช้ JR-West Kansai Wide Area Pass เพราะอยากย่นเวลาเดินทางโดยใช้ Shinkansen การรีวิวนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับใครที่จะเดินทางไปเที่ยวคันไซ ทั้งโอซาก้า โกเบ ฮิเมจิ เกียวโต และใช้ JR-West Kansai Wide Area Pass นะครับ

Osaka Castle

Kobe Port

Himeji Castle

Kiyomizu Kyoto

เริ่มต้นเรามาทำความเข้าใจก่อนว่า JR Pass จะใช้ได้เฉพาะรถไฟของบริษัท JR เท่านั้น ไม่สามารถใช้กับรถไฟท้องถิ่นได้ ซึ่งตรงข้ามกับ Kansai Thru Pass ที่ใช้ได้เฉพาะรถไฟท้องถิ่น ในรีวิวนี้เราจะพูดถึงเฉพาะ JR Pass เท่านั้นนะ

ทำไมถึงเลือก JR-West Kansai Wide Area Pass?

JR-West Pass นั้นมีข้อจำกัดที่ต้องพิจารณาหลัก ๆ ก็คือ

  1. ตลอดการเดินทางเข้าออกประเทศญี่ปุ่น 1 ครั้ง เราสามารถซื้อ Pass นี้ได้ครั้งเดียว
  2. เมื่อเริ่มใช้งานแล้ว จะต้องใช้ต่อเนื่องกันทุกวันจนครบกำหนด ไม่สามารถเลือกได้ว่า วันนี้ใช้ พรุ่งนี้ไม่ใช้ มะรื่นค่อยมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งต่างจาก Kansai Thru Pass อีกแล้ว

จากข้อจำกัดดังกล่าว การเลือกจำนวนวันที่เหมาะสมกับการเดินทางจึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา ในกรณีของผมซึ่งวางแผนเที่ยว 4 เมือง โอซาก้า โกเบ ฮิเมจิ เกียวโต ซึ่ง 4 เมืองนี้ทั้ง JR-West แบบปกติ และ JR-West Kansai Wide ครอบคลุมพื้นที่เดินทางไม่ต่างกัน (สำหรับคนที่วางแผนไป นารา ด้วยก็ใช้ได้ทั้ง 2 แบบนะครับ)

JR-West Map
เส้นทางที่สามารถใช้บัตร JR-West ได้
ขอบคุณภาพจาก www.westjr.co.jp
JR-West Wide Map
เส้นทางที่สามารถใช้บัตร JR-West Kansai Wide Area ได้
ขอบคุณภาพจาก www.westjr.co.jp

ดังนั้นความแตกต่างของ Pass 2 ใบนี้คือจำนวนวัน และ สิทธิ์ในการขึ้น Shinkansen สาย Sanyo ระหว่าง Shin-Osaka ถึง Okayama ซึ่งสามารถเดินทางจาก โอซาก้า ไป โกเบ และ ฮิเมจิ ได้นั่นเอง กลับมาดูที่แผนเดินทางของผมบ้าง ซึ่งพยายามวางแผนให้การเดินทางไปเที่ยวเมืองต่าง ๆ อยู่ติดกัน แล้ววันหลัง ๆ ค่อยกลับมาเที่ยวที่โอซาก้า

จากแผนเดินทางผมสามารถเลือกใช้ JR-West แบบ 4 วันได้ ในราคา 6300 เยน (ราคาซื้อล่วงหน้า รายละเอียดเพิ่มเติมคลิกที่นี่) โดยเริ่มใช้ตั้งแต่วันแรก เดินทางจากสนามบินคันไซเข้าเมืองโอซาก้า ด้วย รถไฟ Express Haruka เที่ยวโกเบ ฮิเมจิ จนถึงวันเดินทางไปเกียวโตพอดี

JR-West Price
ราคาบัตร JR-West Pass

แต่ผมเลือก JR-West Kansai Wide Area Pass 5 วัน ราคา 8500 เยน (ราคาซื้อล่วงหน้า รายละเอียดเพิ่มเติมคลิกที่นี่) เนื่องจาก Pass นี้สามารถขึ้น Shinkansen ได้ เหมือนเป็นการซื้อเวลาเดินทางไปกลับ ฮิเมจิ จาก 2 – 4 ชั่วโมง เหลือไม่ถึงชั่วโมง ทำให้มีเวลาเดินเที่ยวมากขึ้น และ เท่าที่ดูราคา Pass ที่ขึ้น Shinkansen ได้ทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่น Pass นี้ราคาถูกสุด เพราะฉะนั้นใครอยากลองขึ้น Shinkansen ไม่ควรพลาด

JR-West Price
ราคาบัตร JR-West Kansai Wide Area Pass

การซื้อ JR Pass นั้นสามารถซื้อได้ทั้งจากเมืองไทย จองผ่าน Internet หรือ ซื้อที่ญี่ปุ่น แต่ซื้อที่ญี่ปุ่นจะแพงกว่า ดังนั้นควรจองหรือซื้อผ่านตัวแทนในประเทศไทย ซึ่งหาได้ตามงานท่องเที่ยวญี่ปุ่น ที่จัดโคตรจะบ่อยแต่คนก็ตรึมทุกงาน

หลังจากเลือก Pass ได้แล้วเรามาดูการใช้งานกันเลย

เริ่มจากการแลกตั๋วที่เราซื้อจากตัวแทนจำหน่าย หรือ ใบจองเป็นตั๋วจริง โดยสามารถแลกได้ตามสถานี JR หลายที่ ซึ่งผมเลือกแลกที่สถานี JR ที่สนามบินคันไซ อยู่ด้านข้างตู้ซื้อตั๋ว

JR KIX

ที่นี่เปิดตั้งแต่ตีห้าครึ่ง ผมมาถึงหกโมงนึกว่าจะแลก แล้วไปขึ้น Haruka รอบ 6.30 น. สบาย ๆ ที่ไหนได้คิวยาวม๊วกก เรียกว่าเกือบไม่ทันรถเลยทีเดียว

JR KIX

สำหรับคนที่ซื้อบัตร JR-West Pass จะได้ Password สำหรับเชื่อมต่อ Free Wifi ที่สถานี JR เพียงติดตั้ง App ในมือถือก็จะสามารถเชื่อมต่อได้อัตโนมัติทันที ดูดีมีชาติตระกูลทีเดียว แต่พอใช้จริง นอกจากจะ Set ยากแล้ว ยังใช้ไม่ค่อยได้อีกต่างหาก ผมทนใช้อยู่วันนึงจากนั้นเลิก กลับมาใช้ Sim ที่ซื้อมาดีกว่าเยอะ (เรื่อง Internet Sim ไว้มาบอกวิธีซื้ออีกทีนะ)

JR KIX

ได้บัตรมาละจ้าหน้าตาเป็นแบบนี้

JR-West Kansai Wide Area Pass

ด้านในจะเป็นวันเวลาที่เราระบุว่าจะใช้วันไหนถึงวันไหน มุมขวาล่างจะเป็นตราประทับที่นายสถานีประทับให้ในครั้งแรกที่เราใช้ จากนั้นก็แค่โชว์อย่างเดียวไม่ต้องประทับอีกแล้ว

JR-West Kansai Wide Area Pass

การผ่านประตูเข้าสถานีกรณีใช้ JR Pass เราจะเดินเข้าด้านข้างประตูสอดบัตร ฝั่งที่มีนายสถานียืนอยู่ โดยแสดงบัตรด้านที่ระบุวันเวลาให้นายสถานีดู ซึ่งนายสถานีที่นี่ถูกฝึกมาให้สามารถดูได้รวดเร็วแบบเดียวกับระบบตรวจสอบสัมภาระบริเวณทางเข้า MRT บ้านเรา เมือถึงสถานีปลายทาง เวลาออกจากระบบก็ใช้วิธีเดียวกันกับตอนเข้านะครับ

JR Namba
เดินเข้าออกทางช่องด้านขวาสุดที่มีคนยืนอยู่นั่นแหละครับ

สำหรับบัตร JR-West จะสามารถขึ้นรถไฟ Express หรือ Shinkansen ได้เฉพาะตู้ที่เป็นที่นั่งแบบ Non-Reserve เท่านั้น นั่นคือไม่ระบุเลขที่นั่ง ถ้าที่นั่งเต็มก็ต้องยืน โดยที่ประตูตู้แต่ละคันจะมีระบุอยู่ว่าตู้นี้เป็น Reserve หรือ Non-Reserve

Haruka

Haruka

Shinkansen

Shinkansen

สำหรับคนที่มีคำถามว่า ในกรณีที่เรามาถึงสถานีก่อนรถไฟจะเข้าชานชลา จะรู้ได้ไงว่าต้องไปรอช่องไหนถึงจะเป็นตู้ Non-Reserve

ที่ชานชลาจะมีป้ายไฟที่บอกว่า รถขบวนต่อไปที่จะเข้ามาคือขบวนชื่ออะไร มีกี่ตู้ มาถึงเวลาเท่าไหร่ บางป้ายก็บอกด้วยว่าตู้ Non-Reserve คือตู้ไหนบ้าง 

Time Table
ลืมถ่ายรูปมา 5555 ขอบคุณภาพจาก http://traverseworld.com/

แต่ถ้าไม่มีบอกให้เราดูข้อมูลชื่อขบวน กับจำนวนตู้ มาเทียบกับป้าย Train Information เช่นถ้าขบวนที่เราจะไปชื่อ เทพธิดาดาวเดือนเจ็ด (HIKARI) แบบ 16 ตู้ ตู้ Non-Reserve ก็คือตู้ที่ 1 – 5 (ตู้สีฟ้า ๆ) ปัญหาต่อไปคือ แล้วไอ้ตู้ 1 – 5 นี่มันต้องไปรอช่องไหน ปัญหาของคุณจะหมดไปเมื่อ คุณเดินไปดูที่ช่องและที่พื้นชานชลา

Shinkansen

Shinkansen

ที่ช่องทางเข้าจะมีข้อมูลบอกอีกว่า ช่องนี้ถ้าเป็นรถ 8 ตู้ ตู้ที่เท่าไหร่จะจอดตรงนี้ ถ้าเป็น 16 จะเป็นตู้ไหน แล้วเป็นตู้ Non-Reserve หรือเปล่า แค่นี้เราก็ต่อคิวไม่ผิดช่องแล้ว

Shinkansen

เข้ามาดูด้านในรถไฟกันบ้าง ที่นั่งจะกว้างขวางนั่งสบาย เบาะปรับเอนได้ แถม Shinkansen มีปลั๊กไฟสำหรับชาร์ตแบตและมีขายของกินด้วย

Shinkansen

Shinkansen

สำหรับการเดินทางไป เกียวโต นั้นบัตร JR-West Kansai Wide Area Pass ไม่สามารถใช้นั่ง Shinkansen ได้ แต่ใช้นั่งรถ Express อย่าง Haruka, Thanderbird จากสถานี Shin-Osaka ได้ ซึ่งทำเวลาได้ดีเหมือนกัน

Thunderbird
รถไฟ Express Thunderbird
Kyoto
สถานีเกียวโต

Kyoto

ส่วนการดูว่าเราต้องไปขึ้นรถที่ Platform หรือ ชานชลาไหนนั้น เราสามารถดูที่ป้ายไฟที่สถานีก็ได้ แต่ดูค่อนข้างยาก เพราะป้ายจะขึ้นแสดงสถานีปลายทาง เช่น Okayama, Hiroshima หรือ Hakata ซึ่งเราต้องรู้เองว่าเป็นทางที่เราจะไป วิธีที่ง่ายกว่านั้นคือ ใช้ App Hyperdia ซึ่งสามารถโหลดได้เมื่อเราไปถึงประเทศญี่ปุ่น หรือ ถ้าใครใช้มือถือ Android ก็หาโหลด File APK มาลงก่อนได้เลย

วิธีใช้ก็ไม่ยาก แค่ระบุสถานีต้นทาง ปลายทาง วันเวลาเดินทาง ระบบก็จะแสดงผลพร้อมราคา และ ชานชลาที่เราต้องขึ้นมาให้เลย

Hyperdia

Hyperdia
จากภาพ ให้ขึ้นรถชื่อ Sakura 549 ที่ชานชลา 20 เวลา 9.18น. ใช้เวลา 31 นาที ราคา 1490 เยน สำหรับ Non-Reserve

อีก App นึงที่ควรค่าแก่การใช้เพื่อการเดินทางในญี่ปุ่นก็คือ Google Map ซึ่งดีกว่า Hyperdia ตรงที่เวลา Search ใส่สถานที่ได้เลยไม่ต้องใส่สถานี แต่บางทีมันก็ไม่บอกว่าขึ้นชานชลาไหน และต้องระวังบางทีมันก็ปักหมุดผิดที่เหมือนกัน

Google Map

Google Map

หวังว่ารีวิวนี้จะช่วยให้การวางแผนเดินทางเที่ยวญี่ปุ่นของคุณง่ายและสนุกมากขึ้นนะครับ

About A+

หนุ่มแว่น สายไอที ผู้พยายามจะเอาดีด้านการถ่ายภาพ (แต่ยังไม่ดีสักที) มีคอนเซ็ปในการท่องเที่ยวแบบเน้นสบาย ไม่เอาลำบาก

Check Also

เนื้อมัตสึซากะ

Yakiniku M Dotonbori ร้านปิ้งย่าง เนื้อมัตสึซากะ เนื้อวัวขั้นเทพที่พลาดไม่ได้

เนื้อมัตสึซากะ เนื้อวัดขั้นเทพติดอันดับโลก ที่ร้าน Yakiniku M Dotonbori ในเมืองโอซาก้า ใครที่ชอบกินเนื้อห้ามพลาด ใครที่ไม่ชอบกินเนื้อยิ่งพลาดไม่ได้