10 ขั้นตอนวางแผน ขับรถเที่ยวยุโรปด้วยตัวเอง ตอนที่ 2
หลังจากผ่านมา 5 ขั้นตอนแล้ว เรามาต่อขั้นตอนที่ 6 กันเลย (ย้อนกลับไปดู 10 ขั้นตอนวางแผน ขับรถเที่ยวยุโรปด้วยตัวเอง ตอนที่ 1 คลิกที่นี่)
ขั้นตอนที่ 6 จองที่พัก
โรงแรมหรือที่พักเป็นอีกตัวแปรนึงในการกำหนดราคาของทริปว่าจะแพงหรือถูก จากแผนเที่ยวในขั้นตอนที่ 4 เราน่าจะรู้แล้วว่าแต่ละวันฟ้าจะมืดที่ไหน เราก็เริ่มหาที่พักในเมืองนั้น ๆ ได้เลย
จองที่พักแบบยกเลิกได้
เงื่อนไขพื้นฐานที่สุดในการเลือกที่พักของผมคือ เลือกจองที่พักที่ยกเลิกได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากเราต้องใช้หลักฐานการจองที่พักสำหรับขอ VISA ซึ่งมีโอกาสที่จะต้องเปลี่ยน เพราะ VISA ขอได้ตั้งแต่ 3 เดือนก่อนเดินทาง หลังจากนั้นยังมีโอกาสที่พักราคาดี ๆ จะโผล่มาให้เราไขว้เขวอีกเยอะ แต่ 80 – 90% การจองล่วงหน้านาน ๆ มักจะได้ราคาดีกว่าเสมอ
จองที่พักที่มีคะแนนรีวิวไม่น้อยกว่า 8 คะแนน
ในเว็บจองโรงแรมไม่ว่าจะเป็น Booking.com, Agoda หรือ Traveloka จะมีส่วนที่แสดงคะแนนรีวิวจากคนที่เข้าพัก แล้วมาให้คะแนนไว้ เวลาจองควรดูตรงนี้ด้วย ส่วนใหญ่ผมจะจองที่พักที่มีคะแนนไม่ต่ำว่า 8 คะแนน และจะเข้าไปอ่าน Review เพิ่มเติมทั้งที่ให้คะแนนสูง และ คะแนนต่ำว่าคอมเมนต์ส่วนใหญ่ไปในทิศทางไหน ถ้ายังไม่มั่นใจอาจจะดูจาก TripAdvisor เพิ่มเติมก็ได้ (TripAdvisor คะแนนเต็ม 5 ถ้าได้สัก 3 ปลาย ๆ ก็ถือว่าพอใช้ได้แล้ว)
จองที่พักใกล้สถานีรถไฟหลักในวันที่ไม่มีรถขับ
ในแผนของผม จะเดินทางด้วยรถสาธารณะ 2 วันคือวันแรกกับวันสุดท้าย นั่นคือการเที่ยวในเมืองมิวนิคจะไม่มีรถขับ ด้วยเงื่อนไขนี้ผมจึงเลือกที่พักใกล้สถานี Munich Hauptbahnhof (Main Station) มากที่สุด เพราะที่นี่สามารถเดินทางตรงจากสนามบินได้เลย และ เนื่องจากเป็นชุมทางใหญ่จึงมีจุดบริการรถเช่าของทุกบริษัทอยู่ในนั้นเลย ทำให้ไม่ต้องลากกระเป๋าไกล และ รับรถคืนรถก็สะดวก แต่ราคาก็มีโอกาสสูงกว่าที่อื่น ผมโชคดีได้ที่พักราคาดีเพราะจองล่วงหน้านานนี่แหละ
(รีวิวที่พักมิวนิค Arthotel ANA Diva คลิกที่นี่)
(รีวิวที่พักมิวนิค Bayer’s Boardinghouse und Hotel คลิกที่นี่)
ดูราคาที่จอดรถด้วย
นอกจากค่าห้องแล้ว การจองที่พักกรณีที่เราขับรถเที่ยวต้องดูด้วยว่าที่พักนั้นมีที่จอดรถหรือเปล่า และราคาที่จอดรถคิดอย่างไร ต้องจองล่วงหน้าหรือไม่ ส่วนใหญ่แล้วโรงแรมหรือที่พักที่อยู่ในเมืองมักจะคิดค่าที่จอดรถประมาณ 10 – 15 ยูโรต่อคืน และมีที่พักที่ปรากต้องจองล่วงหน้า พร้อมแจ้งทะเบียนรถให้ทางโรงแรม Register เข้าไปในระบบก่อนเข้าไปจอด เพราะที่พักอยู่ในเมืองเก่าใกล้สะพาลชาร์ลแค่เดิน 3 นาที
(รีวิวพี่พักปราก Zlaty kun Golden Horse คลิกที่นี่)
จองที่พักนอกเมือง ไม่เสียค่าที่จอดรถ
เนื่องจากเรามีรถขับ การเลือกจองที่พักไกลจากตัวเมืองหน่อยก็เป็นอีกทางเลือกนึงที่น่าสนใจ เพราะที่พักนอกเมืองส่วนใหญ่จะจอดรถฟรี แต่ต้องแจ้งเค้าล่วงหน้า โดยเฉพาะที่พักที่เจ้าของบ้านปล่อยให้เช่าเอง ส่วนใหญ่ถ้าอยู่นอกเมือง ห้องจะใหญ่นอนสบาย มีครัวให้ทำอาหาร บางที่ก็วิวสวยมากอย่างห้องพักที่ Innsbruck ที่ผมไปพักอยู่บนเขาอากาศดี วิวสวยเกินราคาไปมาก ส่วนวิธีการจองที่พักที่เจ้าของบ้านปล่อยให้เช่าเองให้ได้ราคาถูกคือต้องนอนมากกว่า 1 คืน เนื่องจากที่พักแบบนี้จะมีค่าทำความสะอาดเพิ่มเข้ามาในค่าห้องด้วย แต่ค่าทำความสะอาดนั้นจ่ายครั้งเดียวต่อการจอง 1 ครั้ง ยิ่งจองหลายวันค่าทำความสะอาดก็จะถูกลงเพราะหารกับจำนวนวันที่พักไป
(รีวิวที่พัก Innsbruck Schusterhof คลิกที่นี่)
(รีวิวที่พัก Cesky Krumlov Pension Jana คลิกที่นี่)
จองที่พักที่มีครัวเพื่อทำอาหารกินเอง
อาหารเช้าของโรงแรมที่ยุโรปราคาจะอยู่ที่ประมาณ 10 ยูโร อาหารส่วนใหญ่จะเป็นอาหารง่าย ๆ พวกขนมปัง แฮม ไส้กรอก สลัด ซึ่งดูแล้วราคาแรงกว่าของที่ได้พอสมควร การจองที่พักที่มีครัวพร้อมอุปกรณ์ทำครัวด้วยจะช่วงลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของคนที่ไปว่าต้องทำอาหารรสชาติพอรับประทานได้ ที่พักที่เจ้าของบ้านปล่อยเช่าเองส่วนใหญ่จะมีครัวให้เราด้วย (ดูได้จากรายละเอียดตอนจอง หรือจะส่ง Email ไปคุยกับเค้าก่อนก็ได้) ใครอยากกินข้าวก็เอาข้าวสารจากเมืองไทยไป ไม่จำเป็นต้องเอาหม้อหุงข้าวไปใช้หม้อต้มธรรมดาหุงก็ได้ แต่ต้องขยันคนข้าวไม่ให้ก้นไหม้หน่อย ฝึกที่เมืองไทยก่อนก็ได้นะ ไปถึงจะได้ไม่ต้องกินข้าวไหม้ 5555 ส่วนของสดกับผักก็หาซื้อได้ตาม Super Market ได้เลย ราคาไม่ได้แพงมาก อาจจะติดผงปรุงรสสำเร็จรูปอย่าง รสลาบ ต้มยำ กระเพรา จากเมืองไทยไปก็ได้จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องรสชาติ
(รีวิวที่พัก Nuremburg Ferienhaus Gumann คลิกที่นี่)
ขั้นตอนที่ 7 เลือกร้านอาหาร
การกินอาหารท้องถิ่นของประเทศที่เราไปเที่ยวถือเป็นประสบการณ์ที่ไม่ควรพลาด พอทำแผนเที่ยวเสร็จแล้วเราจะรู้ว่า มื้อเช้าที่พักมีให้หรือไม่ มื้อกลางวัน หรือ มื้อเย็น เราจะอยู่แถวไหน ขั้นตอนต่อไปก็คือหาร้านอร่อย ๆ แถวนั้นเพื่อลองกันซักหน่อย ส่วนใหญ่แล้วเมืองท่องเที่ยวก็จะมีร้านอาหารให้เลือกกินมากมาย ถ้าอยากรู้ว่าร้านไหนอร่อยไม่อร่อย จะให้เข้าไปชิมเองก็ดูเป็นการเสี่ยงดวงเกินไป เราจึงต้องมีตัวช่วยโดยดูจากกระทู้รีวิวต่าง ๆ ที่มีคนไปกินมา หรือ เข้าไปดูใน TripAdvisor ก็เป็นตัวเลือกที่ดีอีกเช่นกัน ผมชอบดูหน้าจัดอันดับร้านอาหารในแต่ละเมืองที่ Web นี้ทำไว้ ถ้าร้านอันดับดี ๆ ใกล้สถานที่เที่ยวก็จะปักหมุดไว้ใน Google Map เพื่อเป็นตัวเลือก
(ตัวอย่างหน้าจัดอันดับร้านอาหารใน Hallstatt ของ TripAdvisor)
แต่เวลาไปถึงจริง ๆ เราอาจจะมีตัวเลือกอื่นที่น่าสนใจกว่า เช่นเดินผ่านแล้วคนต่อคิวเยอะมาก มันต้องอร่อยแน่ ๆ เลย (ซึ่งบางทีก็ไม่) หรือ อย่างที่ Cesky Krumlov เจ้าของบ้านที่ผมไปพัก ก็แนะนำร้านอาหารโบฮีเมียนท้องถิ่นเจ้าอร่อยให้ เราก็สามารถเปลียนแผนตรงนั้นได้เลยเหมือนกัน แต่ถ้าไม่รู้จะกินอะไรและอยากประหยัด McDonald ก็เป็นตัวเลือกไม่เลวนะ มีหลายมื้อโดยเฉพาะมื้อเช้า ที่ผมฝากท้องไว้กับเบอร์เกอร์ของ McDonald นอกจากราคาไม่แพงแล้ว รสชาติยังดีอีกด้วย
ขั้นตอนที่ 8 ขอ Schengen VISA
การเดินทางไปเที่ยวยุโรปนั้นมีเงินอย่างเดียวไม่พอ ต้องมี VISA ด้วย หลังจากเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็ได้เวลาไปขอวีซ่ากัน เริ่มจากคำถามแรกว่าถ้าเดินทางไปเที่ยวหลายประเทศเราต้องไปขอที่สถานฑูตประเทศไหน เรื่องนี้มีวิธีพิจารณาอยู่ 2 ข้อหลัก ๆ นั่นคือ
1. เราพักอยู่ในประเทศไหนนานที่สุด ให้ขอที่ประเทศนั้น โดยประเทศนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศแรกที่เราเดินทางไปถึง เช่นตอนผมทำแผนครั้งแรกบินเข้าไปที่เยอรมันอยู่ทั้งหมด 4 วัน ออสเตรีย 5 วัน สาธารณเช็ก 4 วัน ถ้าเป็นกรณีนี้ผมต้องขอวีซ่าเชงเก้น ที่สถานฑูตออสเตรีย แต่สุดท้ายผมปรับแผนเป็น อยู่เยอรมัน 5 วัน ออสเตรีย 5 วัน สาธารณเช็ก 3 วัน ถ้าเป็นแบบนี้จะเข้าเงื่อนไขข้อที่ 2 นั่นคือ
2. กรณีที่อยู่ในประเทศกลุ่มเชงเก้นนานเท่ากัน จะต้องยื่นขอวีซ่าที่ประเทศแรกที่เราเดินทางไปถึง ซึ่งก็คือยื่นที่สถานฑูตเยอรมันนั้นเอง
รีวิวนี้จะพูดถึงการยื่นขอ Schengen VISA เพื่อการท่องเที่ยวที่สถานฑูตเยอรมันเท่านั้นนะ
การขอวีซ่าที่เยอรมันเป็นที่เดียวที่ต้องยื่นผ่านสถานฑูตโดยตรง ไม่ผ่านตัวแทน ซึ่งหลายคนบอกว่าที่นี่ขอยาก เรามาดูกันว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง
เตรียมเอกสาร
เราสามารถดูรายละเอียด เอกสารที่ต้องเตรียมทั้งหมดได้จากเว็บไซด์ของสถานฑูตเยอรมัน (คลิกที่นี่) นอกจากพวกเอกสารหลัก ๆ อย่าง Passport หรือหลักฐานเรื่องชื่อนามสกุล แล้วเราต้อง ถ่ายรูป และ กรอกข้อมูล VIDEX พร้อมพิมพ์ออกมาติดรูปและนำไปยื่นในวันที่ขอด้วย
รูปถ่ายแบบไบโอเมตริก จริง ๆ ก็เป็นรูปถ่ายปกติที่เห็นใบหน้าชัดเจนซึ่งใน Link ที่ให้ไปก็มีตัวอย่างรูป พร้อมขนาดที่ถูกต้องอยู่ ถ้าเอาชัวร์ก็ควรไปถ่ายที่ร้านที่มีประสบการณ์ ผมไปถ่ายร้าน เจน สตูดิโอ อยู่ตรงซอยศาลาแดง
ประกันเดินทาง
อย่าลืมซื้อประกันเดินทางที่มีวงเงินคุ้มครองมากกว่า 1.2 ล้านบาท พร้อมพิมพ์เอกสารแนบไปด้วย
จดหมายแนะนำตัว
ถ้าเป็นพนักงานประจำก็สามารถขอหนังสือรับรองการทำงานเป็นภาษาอังกฤษได้อยู่แล้ว แต่ในกรณีที่ทำงาน Freelance ควรเขียนจดหมายแนะนำตัวเป็นภาษาอังกฤษพร้อมระบุที่มาของรายได้ให้ชัดเจน
ต้องแปลเอกสารเป็นภาษาอังกฤษไหม
สำหรับการยื่นที่สถานฑูตเยอรมัน ผมไม่ได้แปลเอกสารที่เป็นภาษาไทยที่ออกโดยราชการเลย แต่เอกสารอื่น ๆ ที่สามารถออกเป็นภาษาอังกฤษได้จะออกเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ตอนยื่นก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะคนรับยื่นเป็นคนไทยทั้งหมด เค้าจะเขียนด้านหลังเอกสารเหล่านั้นให้เองว่าเป็นเอกสารอะไร
นัดหมายเวลายื่นคำร้องขอวีซ่า
หลังจากเตรียมเอกสารเรียบร้อยแล้วก็ต้องนัดหมายเวลายื่นคำร้องขอวีซ่า (อาจจะนัดหมายก่อนแล้วเตรียมเอกสารไปด้วยก็ได้นะ เค้าไม่ห้าม) สามารถนัดวันยื่นคำร้องได้ล่วงหน้าประมาณ 45 วัน (คลิกที่นี่เพื่อเข้าหน้าสำหรับวีซ่าเชงเกน (C-Visa) ประเภทเยี่ยมเยียนและท่องเที่ยว) หลังจากเลือกวัน เวลา และ กรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้ว จะมี Email ยืนยันเวลาส่งมาให้ ต้อง Print แนบกับเอกสารทั้งหมดไปด้วย กรณีที่ไปเป็นกลุ่มให้ทำนัดแยกทีละคน แต่เลือกวันเวลาเดียวกันทั้งหมด เวลาเข้าไปยื่นจะสามารถยื่นพร้อมกันได้เลย แต่จะสัมภาษณ์แยกทีละคน
สถานฑูตเยอรมันอยู่บนถนนสาทร ซึ่งรถติดโคตร ๆ และ สถานฑูตไม่มีบริการที่จอดรถ การเดินทางที่ดีที่สุดคือมารถใต้ดินลงสถานีลุมพินีแล้วเดินเอาครับ
(ดูตำแหน่งสถานฑูตเยอรมันด้วย Google Map คลิกที่นี่)
วันยื่นเอกสาร เตรียมตัวสัมภาษณ์
ตอนเข้าสถานฑูตเราต้องฝากเครื่องมือสื่อสารทุกอย่างไว้ที่ด้านหน้า เอาเข้าได้เฉพาะเอกสารที่ยื่นเท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่มีรูปบรรยากาศให้ดูนะจ๊ะ พอผ่านเข้ามาได้จะเป็นที่นั่งรอเวลาเข้ายื่น ตรงนี้มีถ่ายเอกสารบริการอยู่ใครลืมถ่ายอะไรก็ยังทำตอนนี้ทัน เอกสารบางอย่างที่ต้องพิมพ์มาเซ็นอย่างเช่น ใบยืนยันรับทราบระเบียบข้อบังคับพื้นฐานเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูล ใครลืม Print มาเค้าก็มีบริการถ่ายให้ตรงนี้
พอใกล้เวลาให้เดินไปหา คนตรวจเอกสารหน้าทางเข้าอีกจุดหนึ่ง ตรงนี้ถ้าไปเป็นกลุ่มให้แจ้งเลย เค้าจะรวมเอกสารให้และจะบอกให้กดบัตรคิวใบเดียวทั้งกลุ่ม พอได้บัตรคิวก็รอเรียกสัมภาษณ์ (สัมภาษณ์ภาษาไทยนะไม่ต้องกลัวตอบไม่รู้เรื่อง) โดยเค้าจะเรียกทีละคนใครเข้าก่อนเข้าหลังก็ได้ สำคัญที่สุดคือทุกคนต้องรู้ข้อมูลในระดับนึงว่าจะไปเที่ยวที่ไหนกี่วัน นอนไหน เอาเงินไปเท่าไหร่ (อันนี้ตอบของใครของมันได้) โดยหลักการแล้วการขอ VISA ไม่ได้ยาก ขอแค่ให้เค้ามั่นใจว่าเราจะกลับมาเมืองไทยตามกำหนด และ มีเงินมากพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ที่โน้น ก็น่าจะผ่านแล้วแหละ
หลังจากสัมภาษณ์ครบทุกคน ก็จะมาถึงขั้นตอนสำคัญที่สุดคือ จ่ายเงิน 60 ยูโร (จ่ายเป็นเงินไทยประมาณ 2,400 บาท) ค่าขอวีซ่า โดยเค้าจะเก็บ Passport ตัวจริงของเราไว้ เพื่อพิจารณาเสร็จแล้วจึงจะคืนให้ โดยเราสามารถเลือกที่จะมารับด้วยตัวเอง หรือให้ส่งกลับทางไปรษณีย์ ซึ่งเราสามารถจ่ายเงินค่าส่งและเขียนที่อยู่ลงในซองที่ด้านนอกตรงแถว ๆ เครื่องถ่ายเอกสารได้เลย ตอนผมไปขอรอแค่ไม่กี่วัน Passport ก็ส่งกลับมาแล้ว ถึงจะใช้เวลาไม่นานแต่ไม่ควรชะล่าใจ ควรขอตั้งแต่เนิ่น ๆ ดีกว่า (VISA ขอล่วงหน้าได้ 90 วันก่อนเดินทาง)
ขั้นตอนที่ 9 ทำใบขับขี่สากล
การเช่ารถขับในต่างประเทศ คนที่จะขับทุกคนต้องทำใบขับขี่สากล หรือ ใบขับขี่ระหว่างประเทศ โดยสามารถทำได้ที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศ ไม่ต้องทำทดสอบอะไร แค่เอาเอกสารไปให้ครบแล้วจ่ายเงินก็จบ (คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียด) รูปถ่ายสามารถใช้รูปเดียวกับที่ใช้ขอ VISA ได้เลย
อย่าลืมเอาใบขับขี่ของจริงไปด้วย
นอกจากใบขับขี่สากลแล้ว เวลาไปรับรถเช่าจริง ๆ พนักงานที่ยุโรปก็ยังคงต้องการทั้งใบขับขี่จริง กับ ใบขับขี่สากล เพราะฉะนั้นอย่าลืมติดไปเด็ดขาด
ขั้นตอนที่ 10 เลือก Internet (Sim card หรือ Pocket Wifi)
การขับรถเที่ยวยุโรปนั้น Internet เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถึงแม้เราจะ Download แผนที่สำหรับนำทางไปแล้ว แต่ถ้าไม่มี Internet เราจะไม่รู้สภาพรถติด รวมถึง ถนนที่ปิดซ่อม ซึ่งต้องใช้ Internet ในการ Update ข้อมูลเหล่านี้ นอกจากเรื่องนำทางแล้ว หากเราจองที่พักที่เจ้าของปล่อยให้เช่าเอง การติดต่อนัดหมายก็อาจจำเป็นต้องโทรผ่าน WhatsApp หรือ Viber ด้วย (ที่ยุโรปเค้าไม่ใช่ Line กันนะ) นี่ยังไม่รวมการลงรูป Check-in หรือ Live อีกนะ ถ้าไม่มี Net นี่ขาดใจตายได้เลย
ทางเลือกสำหรับ Internet หลัก ๆ ของเราตอนนี้น่าจะเป็นซื้อ Internet Sim หรือ Pocket Wifi ซึ่งแต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป
Internet Sim ตอนนี้ก็มีบริการอยู่หลายค่ายทีเดียว ทริปนี้กลุ่มผมใช้ 2 ยี่ห้อคือ Sim2Fly ของ AIS กับ IntraSim ซึ่งทั้ง 2 ค่าย ก็ใช้งานได้ดีทั้ง 3 ประเทศที่ไป แต่จากที่ไปมาพบว่า เราควรเลือกซิมที่ Roaming ไปคนละ Operator กัน เพราะเวลาเน่าจะได้เน่าไม่พร้อมกัน ซึ่ง 2 ค่ายที่เอาไป Roaming ไปคนละ Operator พอดี ความแตกต่างก็อยู่ที่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ปริมาณ Internet ที่ใช้ได้ หรือบางค่ายแถมค่าโทรที่ยุโรปให้ด้วย
ส่วน Pocket Wifi ก็เป็นอีกทางเลือกนึงสำหรับคนที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะ Share Net กันได้ 5 คน หารออกมาแล้วจ่ายคนละไม่กี่บาท แถมคิดค่าใช้จ่ายเป็นวันถ้าไปจำนวนวันน้อยจะยิ่งถูกเข้าไปอีก แต่ข้อเสียก็มีเหมือนกัน นั่นคือ
1. ต้องดูแลเรื่อง Battery เพิ่มอีก 1 ชิ้น ถ้า Pocket Wifi แบตหมดนี่ก็จบกัน
2. ถ้าใช้หลายคนต้องอยู่ห่างกันไม่เกิน 10 เมตร ห้ามหลงเด็ดขาดเพราะโทรหากันไม่ได้
3. ความเร็ว Internet แชร์กันตามจำนวนคนใช้ ใช้หลายคน Net ก็จะช้าลง
10 ขั้นตอนนี้เหมือนเป็น Check list ช่วยให้มือใหม่ที่อยากขับรถเที่ยวยุโรปครั้งแรก สามารถวางแผน ขับรถเที่ยวยุโรป ได้อย่างครบถ้วน ถึงตรงนี้ถ้าใครยังไม่มั่นใจก็สามารถเอาแผนที่ทำไว้ปรึกษาคนที่มีประสบการณ์เพื่อปรับให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้แล้ว … หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับคนรักการท่องเที่ยว และ ขอให้สนุกกับขับรถเที่ยวยุโรปด้วยตัวเองนะครับ